วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สวนสาธารณะหนองนารี

ตั้งอยู่บนถนนนารีพัฒนา สวนสาธารณะหนองนารี เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดค่อนข้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ ๔๑๕ ไร่ เป็นพื้นน้ำ ๒๖๓ ไร่ พื้นดิน ๑๕๐ ไร่ อยู่ในเขตตำบลสะเดียง ติดกับเขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ บริเวณหนองน้ำเป็นแหล่งพันธุ์พืช ประเภทบัวนานาชนิด แหล่งพันธุ์ปลาต่างๆ ตลอดจนนกหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งนกประจำถิ่นและนกที่อพยพจากถิ่นอื่นตามฤดูกาล พื้นดินมีสภาพเป็นป่าไม้ เนื้อที่ประมาณ ๑๐๒ ไร่ มีพันธุ์ไม้ต่างๆ ขึ้นอยู่หนาแน่น มีทั้งพันธุ์ไม้ท้องถิ่น และไม้ที่ปลูกเพิ่มเติม อาทิ ประดู่ ตะแบก จามจุรี และยูคา สำหรับพื้นที่ที่เหลืออีก ๔๕ ไร่ เป็นถนนรอบหนองน้ำและสวนหย่อม ปัจจุบันได้มีผู้บุกรุกพื้นที่หนองนารีเพื่อผลประโยชน์ต่างๆ
เทศบาลเห็นสมควรที่จะปรับปรุงหนองนารี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทหนองน้ำขนาดใหญ่ ด้วยการพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับใช้เป็นสวนสาธารณะ ๔ ด้าน จากงบประมาณ ๑๘๐ ล้านบาท ดังนี้
๑. สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ด้วยการจัดทำสวนดอกไม้ สนามหญ้า สนามเด็กเล่น ศาลากลางน้ำ สะพานแขวน น้ำพุขนาดใหญ่ ห้องน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง ท่าน้ำ หอชมวิว เรียงหินใหญ่บริเวณหนองน้ำ พร้อมทำบันไดลงท่าน้ำและทำรั้ว ๔ บริเวณ เปิด - ปิดเป็นเวลา
๒. สถานที่ออกกำลังกาย สร้างถนนรอบหนองนารี จัดให้มีลานจอดรถเป็นจุดๆ สร้างลู่จักรยาน ลู่วิ่งรอบหนองน้ำ สวนสุขภาพ ลานเอนกประสงค์สำหรับออก
กำลังกาย อัฒจรรย์ชมกีฬาทางน้ำ จัดบริเวณสนามแข่งจักรยานเสือภูเขาและป้ายแผนผังบริเวณรอบสวน
๓. การจัดกิจกรรมและนันทนาการ จัดทำเวทีกลางแจ้ง ลานกิจกรรม และ
อัฒจรรย์นั่งชมไฟฟ้า แสงสว่างบริเวณลานเอนกประสงค์
๔. แหล่งเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ สร้างนาฬิกาแดด ท้องฟ้าจำลอง หอดูดาว สถานีพลังลม สถานีภาวะเรือนกระจก สถานีพลังงานแสงอาทิตย์ สถานีพืช
ดึกดำบรรพ์ สถานีเลเซอร์ สถานีหิน สถานีการเรียนรู้ทางชีววิทยา อุทยานบัว และสถานีจำลองการเคลื่อนที่ทางอากาศ

สระกลางเมือง

ตั้งอยู่ ณ ถนนกลางเมืองพัฒนา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และเป็นจุดที่ร้านอาหาร บริการช่วงกลางคืนจำนวนมาก สระกลางเมือง มีลักษณะยาวคล้ายผืนผ้าลักษณะกว้างประมาณ ๑๖ เมตร ยาว ๙๐๐ เมตร เศษ เป็นแหล่งน้ำสาธารณะธรรมชาติ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำลำคลองกระเสี้ยว ซึ่งเชื่อมต่อจากคอลงแสนพญาโศกและคลองศาลา ทางด้านตะวันออกของศาลากลางและเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ไหลออกสู่แม่น้ำป่าสัก ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมือง แต่เนื่องจากลำน้ำตื้นเขินเพราะมีราษฎรตั้งบ้านเรือนริมน้ำ และทับถมทั้งตอนต้นและตอนปลายของลำคลอง คงเหลือแต่เฉพาช่วงตอนกลางของลำคลองมีความยาวคดโค้ง ลักษณะคล้ายสระ ชาวบ้านจึง เรียกว่า “สระยาว”
สมัยนายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ เป็นนายกเทศมนตรี ได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ และจัดสร้างน้ำพุนครบาลกลางสระ ทำสะพานข้ามสระ ศาลากลางน้ำ หอนาฬิกา น้ำตก ลานกีฬาเอนกประสงค์ สวนหย่อม สนามเด็กเล่น ทางเท้าสำหรับวิ่งออกกำลังกายรอบสระ จัดให้รถวิ่งทางเดียว ติดแสงไฟให้ความสว่างโดยรอบ
พ.ศ. ๒๕๔๔ มีการจัดทำประชาพิจารณ์เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนว่า มีคนจับปลาในสระน้ำไม่เป็นการสมควรและมีมติให้จัดเป็น “วังมัจฉา” ปล่อยพันธุ์ปลาสวยงามและปลาอีกหลายชนิดที่ควรค่าแก่การศึกษา ปัจจุบันสระกลางเมือง เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ กลางตัวเมืองอีกแห่งหนึ่ง จัดเป็นสถานที่วิ่ง-เดิน ออกกำลังกายทั้งตอนเช้าและช่วงเย็น เวลากลางคืนเป็นที่ตั้งร้านค้าให้บริการด้านอาหารรอบๆสระน้ำเป็นจำนวนมาก มีโคมไฟฟ้าให้แสงสว่างโดยรอบ กลางสระน้ำมีน้ำพุประดับไฟแสงสี เป็นสถานที่พักผ่อนยามราตรีที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่ง

หอนาฬิกาแชมป์โลกคู่แฝด

ตั้งอยู่บริเวณถนนศึกษาเจริญ สร้างเป็นอนุสรณ์แก่แชมป์โลกคู่แฝดชาวเพชรบูรณ์ เขาค้อ และเขาทราย แกแลคซี่
เขาทราย แกแลคซี่ เป็นแชมป์โลกรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก (WBA) เป็นแชมป์โลกเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ ชกป้องกันตำแหน่งชนะ ๑๙ ครั้ง โดยไม่เสียตำแหน่ง ก่อนแขวนนวม ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ สมาคมมวยโลกยกย่องให้เป็นนักชกยอดเยี่ยมแห่งปี พ.ศ. ๒๕๓๒ นักชกยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๓ และรางวัล “WORLD BOXING HALL OF FRAME” บรรจุชื่อไว้ในหอเกียรติยศนักมวยที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วโลกของ WBA ณ เมืองคานาสโตต้า สหรัฐอเมริกา ส่วนเขาค้อ แกแลคซี่ เป็นแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวท ของสมาคมมวยโลก และเป็นแชมป์รุ่นนี้คนแรกของไทย ได้แชมป์โลกเมื่อ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๑

วงเวียนนครบาลเพชรบูรณ์

อนุสรณ์สถานแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงบุญคุณและอัจฉริยภาพของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเป็นอนุสรณ์เตือนให้ชาวเพชรบูรณ์เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของเมืองเพชรบูรณ์ ที่เมื่อพ.ศ.๒๔๘๖-๒๔๘๗ มีการออก
พระราชกำหนดย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เพชรบูรณ์ โดยใช้ชื่อว่านครบาลเพชรบูรณ์ เพราะเห็นว่าเพชรบูรณ์นั้นมีเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม มีภูเขาล้อมรอบและมีทางเข้าออกเพียงทางเดียว
ทางรัฐบาลได้ดำเนินการร่างพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ กำหนดให้ราชการบริหารส่วนภูมิภาคจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นนครบาลเพชรบูรณ์ และได้ดำเนินการอพยพราษฎรมาตั้งหลักแหล่งที่เพชรบูรณ์ พร้อมกับย้ายที่ทำการรัฐบาลตลอดจนสถานที่ราชการมาตั้งที่เพชรบูรณ์ แต่เนื่องจากสถานที่ต่างๆนั้นเสื่อมสภาพไปแล้ว ยังคงเหลือแต่เสาหลักเมืองนครบาลฯที่บ้านบุ่งน้ำเต้าอำเภอหล่มสักเท่านั้น
แต่เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เสนอพระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ฯ พ.ศ.๒๔๘๗ ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออนุมัติเป็นพระราชบัญญัติ มีผลดำเนินการอย่างถาวรตลอดไป แต่ในที่สุดสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่อนุมัติด้วยคะแนนเสียง ๔๘ ต่อ ๓๖ ด้วยเหตุผลที่ว่า”เพชรบูรณ์เป็นดินแดนกันดาร มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ป่าชุกชุม” อนุสรณ์นครบาลเพชรบูรณ์แห่งนี้จึงสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุญคุณและอัจฉริยภาพของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และเพื่อคนเพชรบูรณ์จะได้ภูมิใจในประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งและความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองตน
เสาหลักเมืองนี้ทำด้วยไม้มงคล ๙ ชนิด ฐานล่างมีลักษณะแปดเหลี่ยม แบ่งไม้มงคลเหลี่ยมละหนึ่งชนิด อีกหนึ่งชนิดอยู่ที่ปลายยอด

วัดเพชรวราราม

ตั้งอยู่บนถนนเพชรเจริญ เป็นวัดนิกายธรรมยุติของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและมีพระอุโบสถที่งดงามยิ่ง และเป็นวัดที่มีความร่มรื่นสวยงาม
นับเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่ง สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก เสด็จฯมาเยี่ยมและเผยแพร่ธรรมถึง ๓ พระองค์ ปัจจุบันมีพระธรรมวราลังการณ์เป็นเจ้าอาวาสวัด และเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรมและแผนกบาลี ภายในวัดมีสวนป่าสวยงาม ร่มรื่น เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมและพักผ่อนหย่อนใจเพื่อกล่อมเกลาจิตใจ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๑ และนอกจากนี้ภายในวัดยังมีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ มณฑปประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธบาทจำลอง และพระไพรีพินาศ

วัดไตรภูมิ

วัดไตรภูมิเป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่ง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา อดีตเคยเป็นวัดกลางเมือง มีอายุประมาณ๔๓๔ ปี อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ที่ใช้ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ เป็นพระพุทธรูปที่พระเจ้าชัยวรมันที่๗ พระราชทานให้แก่พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเมื่อครั้งที่พ่อขุนผาเมืองทรงอภิเษกกับพระนาสิงขรเทวีพระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะขอม สมัยลพบุรี มีหน้าตักกว้าง ๑๓ นิ้ว สูง ๑๘ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปที่ไม่มีฐาน หล่อด้วยทองสำริด ทรงชฎาทรงเทริด นับว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามมาก และภายในวัดไตรภูมิยังมีเจดีย์ทรงเหลี่ยมย่อไม้มุมสิบสองสูงประมาณ ๙เมตร และมีความยาวรอบฐาน ๙ เมตร
ในอดีตท่าน้ำหน้าวัดไตรภูมิยังเป็นท่าน้ำการค้าที่สำคัญในสมัยอดีต เพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้ากัน แต่ปัจจุบันตลาดได้ถูกย้ายขึ้นมาบนถนนตามความเจริญของบ้านเมือง

แนวกำแพงเมืองเก่า

ตั้งอยู่ ณ ถนนหลักเมืองและถนนเพชรรัตน์ ลักษณะกำแพงก่อด้วยอิฐถือปูน สันนิษฐานว่าเป็นกำแพงเมืองที่สร้างขึ้นในยุคที่สองโดยได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘
สันนิษฐานว่ากำแพงเมืองเพชรบูรณ์ถูกสร้างขึ้นในสองยุค ยุคแรกสร้างในสมัย
สุโขทัย มีความยาวด้านละ ๘๐๐ เมตร เป็นกำแพงคันดิน ไม่มีให้เห็นแล้ว ส่วนกำแพงเมืองเก่าที่ถูกค้นพบนั้นน่าจะสร้างในยุคที่สองคือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีการร่นเมืองให้มีขนาดเล็กลง ยาวด้านละ ๕๐๐ เมตร
กำแพงเมืองเก่าก่อด้วยอิฐถือปูน รากฐานใช้ก้อนหินทรายและศิลาแลงลงประกอบบางส่วนตลอดแนวกำแพงเมือง มีป้อมปราการทั้งหมด๔ป้อม คือป้อมศาลเจ้าพ่อ ป้อมศาลเจ้าแม่ ป้อมหลักเมือง และป้อมที่ยังสมบูรณ์ที่สุดคือ ป้อมสนามชัย กำแพงเมืองเพชรบูรณ์มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากที่อื่นคือ มีประตูเมืองยื่นไปข้างหน้ามองคล้ายหัวธนู